วันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2555

ตัวอย่างงานวิจัย

บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความคิดเห็นของบุคลากรในโรงเรียนชุมพรบริหารธุรกิจ ที่มีต่อพฤติกรรมการบริหารงานของผู้อำนวยการสถานศึกษา ประจำปีการศึกษา2552 ใน 3 ด้าน คือ ด้านการครองตน ด้านการครองคนและด้านการครองงาน
ประชากรที่ใช้ในการวิจัย เป็นบุคลากรของโรงเรียนชุมพรบริหารธุรกิจ ในตำแหน่งงานครู เจ้าหน้าที่และพนักงาน โดยแบ่งออกเป็น 2 แผนก ดังนี้
             2.1 ครู เจ้าหน้าที่และพนักงาน แผนกอาชีวศึกษา จำนวน 40 คน
             2.2 ครู เจ้าหน้าที่และพนักงาน แผนกการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 38 คน
          เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลครั้งนี้ เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับความคิดเห็นของบุคลากรในโรงเรียนชุมพรบริหารธุรกิจ ที่มีต่อพฤติกรรมการบริหารงานของผู้อำนวยการสถานศึกษา ประจำปีการศึกษา2552 โดยแบ่งข้อคำถามออกเป็น 3 ด้าน คือ ด้านการครองตน ด้านการครองคนและด้านการครองงาน ลักษณะแบบสอบถามเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ
          ผลการวิจับพบว่า บุคลากรในโรงเรียนชุมพรบริหารธุรกิจ มีความคิดเห็นต่อพฤติกรรมการ บริหารงานของผู้อำนวยการสถานศึกษา โดยรวมอยู่ในระดับมาก  เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน ทั้งด้านการครองตน ครองคนและครองงาน พบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน ซึ่งสอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้              
          บุคลากรในโรงเรียนชุมพรบริหารธุรกิจ ซึ่งสังกัดแผนกต่างกัน มีความคิดเห็นต่อพฤติกรรมการ บริหารงานของผู้อำนวยการสถานศึกษา ในภาพรวมและรายด้านไม่แตกต่างกัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้
          บุคลากรในโรงเรียนชุมพรบริหารธุรกิจ ที่มีตำแหน่งงานแตกต่างกัน มีความคิดเห็นต่อพฤติกรรมการบริหารงานของผู้อำนวยการสถานศึกษา โดยรวมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05 ซึ่งสอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้





บทนำ

โรงเรียนชุมพรบริหารธุรกิจ เป็นสถาบันการศึกษาของเอกชน สังกัดสำนักบริหารงานคณะการการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2523 โดยมีท่านอาจารย์ประยูร มัยโภคา เป็นผู้รับใบอนุญาต และท่านอาจารย์สมลักษณ์ มัยโภคา เป็นผู้จัดการ
        การจัดการศึกษาของโรงเรียนชุมพรบริหารธุรกิจ แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ
1. ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นบริบาล อนุบาล ประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น
2. ระดับอาชีวศึกษา เปิดสอนประเภทวิชาพาณิชยกรรมและบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการบัญชี   การขาย/การตลาดและคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)
การบริหารงานโรงเรียน มีการจัดโครงสร้างการบริหารแยกตามแผนกการจัดการศึกษา โดยมีนางสาวสาริยา มัยโภคา ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา โดยเริ่มดำรงตั้งแหน่งในปีการศึกษา 2551 เนื่องจากผู้อำนวยการสถานศึกษา เป็นคนรุ่นใหม่ มีวัยวุฒิน้อยและยังขาดประสบการณ์ในการบริหารจัดการงานด้านการศึกษา การบริหารงานโรงเรียนจึงได้เน้นการบริหารงานแบบมีส่วนร่วม เป็นประชาธิปไตย์และส่งเสริมให้ผู้บริหารสถานศึกษาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้โรงเรียนมีการบริหารจัดการที่ดี มุ่งประโยชน์สูงสุดแก่นักเรียน/นักศึกษา โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องนำไปสู่การปฏิบัติงานอย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ
ผู้วิจัยในฐานะผู้อำนวยการสถานศึกษา และได้ดำรงตำแหน่งมาครบ 1 ปี จึงมีความสนใจที่จะศึกษาความคิดเห็นของบุคลากรในโรงเรียนชุมพรบริหารธุรกิจ ที่มีต่อพฤติกรรมการบริหารงานของผู้อำนวยการสถานศึกษา ประจำปีการศึกษา2552 ในด้านการครองตน ด้านการครองคนและการครองงาน เพื่อนำผลการวิจัยไปใช้ในการพัฒนาตนเอง ให้มีศักยภาพที่ดีมากยิ่งขึ้นต่อไป

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
                เพื่อศึกษาความคิดเห็นของบุคลากรในโรงเรียนชุมพรบริหารธุรกิจ ที่มีต่อพฤติกรรมการบริหารงานของผู้อำนวยการสถานศึกษาสถานศึกษา ประจำปีการศึกษา2552 ในด้านการครองตน ด้านการครองคนและการครองงาน

ความสำคัญของการวิจัย
            ผลจากการวิจัยจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อำนวยการสถานศึกษา ซึ่งจะได้นำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพในการบริหารงานมากยิ่งขึ้น

ขอบเขตการวิจัย
            1.ขอบเขตของเนื้อหา ในการวิจัยครั้งนี้มุ่งศึกษาความคิดเห็นของบุคลากรในโรงเรียนชุมพรบริหาร ธุรกิจ ที่มีต่อพฤติกรรมการบริหารงานของผู้อำนวยการสถานศึกษา ประจำปีการศึกษา2552 ในด้านการครองตน ด้านการครองคนและการครองงาน
                2. ประชากรที่ใช้ในการวิจัย เป็นบุคลากรของโรงเรียนชุมพรบริหารธุรกิจ ในตำแหน่งงานครู เจ้าหน้าที่และพนักงาน โดยแบ่งออกเป็น 2 แผนก ดังนี้
                        2.1 ครู เจ้าหน้าที่และพนักงาน แผนกอาชีวศึกษา จำนวน 40 คน
                        2.2 ครู เจ้าหน้าที่และพนักงาน แผนกการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 38 คน
                3. ตัวแปรที่ศึกษา ได้แก่ ความคิดเห็นของบุคลากรในโรงเรียนชุมพรบริหารธุรกิจ ที่มีต่อพฤติกรรมการบริหารงานของผู้อำนวยสถานศึกษา ประจำปีการศึกษา2552 ใน 3 ด้าน คือ การครองตน ด้านการครองคนและการครองงาน

เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล
            เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลครั้งนี้ เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับความคิดเห็นของบุคลากรในโรงเรียนชุมพรบริหารธุรกิจ ที่มีต่อพฤติกรรมการบริหารงานของผู้อำนวยการสถานศึกษา ประจำปีการศึกษา2552 โดยแบ่งข้อคำถามออกเป็น 3 ด้าน คือ ด้านการครองตน ด้านการครองคนและด้านการครองงาน ลักษณะแบบสอบถามเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ

สมมติฐานของการวิจัย
            1.บุคลากรของโรงเรียนชุมพรบริหารธุรกิจ มีความคิดเห็นต่อพฤติกรรมการบริหารงานของผู้อำนวยการสถานศึกษา โดยรวมอยู่ในระดับมาก
          2. บุคลากรในโรงเรียนชุมพรบริหารธุรกิจ ซึ่งสังกัดในแผนกต่างกัน มีความคิดเห็นต่อพฤติกรรมการบริหารงานของผู้อำนวยการสถานศึกษาแตกต่างกัน
                3.บุคลากรในโรงเรียนชุมพรบริหารธุรกิจ ซึ่งมีตำแหน่งงานต่างกัน มีความคิดเห็นต่อพฤติกรรมการบริหารงานของผู้อำนวยการสถานศึกษาแตกต่างกัน





สรุปผลและอภิปรายผลการวิจัย

สรุปผลการวิเคราะห์
            จากการวิเคราะห์ข้อมูล สามารถสรุปผลการวิจัยได้ดังนี้
1. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถามพบว่า บุคลากรของโรงเรียนชุมพรบริหารธุรกิจตอบแบบสอบถามทั้งหมด 78 คน จำแนกเป็นบุคลากรแผนกอาชีวศึกษาจำนวน 40 คน (ร้อยละ 51.30) และแผนกสามัญศึกษาจำนวน 38 คน (ร้อยละ 48.70) จำแนกตามตำแหน่งงานเป็นครู/อาจารย์ จำนวน 51 คน (ร้อยละ 65.40)  เจ้าหน้าที่จำนวน 15 คน (ร้อยละ 19.20) และพนักงานจำนวน 12 คน (ร้อยละ 15.40)
2. ผลการวิเคราะห์ความคิดเห็นของบุคลากรโรงเรียนชุมพรบริหารธุรกิจ ที่มีต่อพฤติกรรม การบริหารงานของผู้อำนวยการสถานศึกษา ใน 3 ด้าน คือ ด้านการครองตน ด้านการครองคน และด้านการครองงาน พบว่า บุคลากรโรงเรียนชุมพรบริหารธุรกิจ มีความคิดเห็นต่อพฤติกรรมการ บริหารงานของผู้อำนวยการสถานศึกษา โดยรวมอยู่ในระดับมาก (X = 3.96) พิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านการครองคน มีความคิดเห็นระดับมากสูงที่สุด (X = 4.00) รองลงมา คือ ด้านการครองตน (X = 3.96) และด้านการครองงาน(X = 3.90)
                2.1. ด้านการครองตน พบว่า บุคลากรโรงเรียนชุมพรบริหารธุรกิจ มีความคิดเห็นต่อพฤติกรรมการบริหารงานของผู้อำนวยการสถานศึกษา ด้านการครองตน โดยรวมอยู่ในระดับมาก (X = 3.96) เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า บุคลากรโรงเรียนชุมพรบริหารธุรกิจ มีความคิดเห็นต่อพฤติกรรมการบริหารงานของผู้อำนวยการสถานศึกษา อยู่ในระดับมาก 12 ข้อ โดยข้อการพัฒนาตนเองให้สอดคล้องเหมาะสมกับยุคสมัย มีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากสูงสุด (X = 4.08) รองลงมาคือ การประพฤติปฏิบัติหน้าที่เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ครูและบุคลากรทั่วไป (X = 4.05) เป็นบุคคลที่ทำงานด้วยความมานะ ขยันหมั่นเพียร มีระเบียบวินัยในตนเอง และเป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และพัฒนาศักยภาพการบริหารงานอย่างสม่ำเสมอ (X = 4.04)
                2.2. ด้านการครองคน พบว่า บุคลากรโรงเรียนชุมพรบริหารธุรกิจ มีความคิดเห็นต่อพฤติกรรมการบริหารงานของผู้อำนวยการสถานศึกษา ด้านการครองคน โดยรวมอยู่ในระดับมาก (X = 4.00) เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า บุคลากรโรงเรียนชุมพรบริหารธุรกิจ มีความคิดเห็นต่อพฤติกรรมการบริหารงานของผู้อำนวยการสถานศึกษา อยู่ในระดับมาก 6 ข้อ โดยพบว่าข้อการเจรจาแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่ส่อเสียดหรือเสียดสีผู้ร่วมงานมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากสูงสุด (X = 4.09) รองลงมาคือ ปฏิบัติตนต่อผู้ร่วมงานด้วยความจริงใจ เสมอต้นเสมอปลาย (X = 4.08) และเปิดเผยและเป็นกันเองกับเพื่อนร่วมงาน (X = 4.05)
                2.3. ด้านการครองงาน พบว่า บุคลากรโรงเรียนชุมพรบริหารธุรกิจ มีความคิดเห็นต่อพฤติกรรมการบริหารงานของผู้อำนวยการสถานศึกษา ด้านการครองงาน โดยรวมอยู่ในระดับมาก (X = 3.90) เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า บุคลากรโรงเรียนชุมพรบริหารธุรกิจ มีความคิดเห็นต่อพฤติกรรมการบริหารงานของผู้อำนวยการสถานศึกษา อยู่ในระดับมาก 26 ข้อ และระดับปานกลาง 1 ข้อโดยพบว่าข้อการเป็นมิตรที่ดี วาจาสุภาพ เหมาะกับกาลเทศะ มีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากสูงสุด (X = 4.44) รองลงมาคือ ชี้แจง ให้คำแนะนำ ช่วยเหลือและแก้ปัญหาแก่ผู้มาติดต่องานด้วยอัธยาศัยดี (X = 4.10) รู้จักหา รู้จักใช้และรักษาทรัพย์สินขององค์กร (X = 4.09) ข้อที่มีความคิดเห็นระดับปานกลาง คือ พัฒนาระบบงานให้ทันสมัย สะดวก รวดเร็วในการทำงาน (X = 3.42)
3. ผลการวิเคราะห์เปรียบเทียบความคิดเห็นของบุคลากรโรงเรียนชุมพรบริหารธุรกิจ ที่มีต่อพฤติกรรมการบริหารงานของผู้อำนวยการสถานศึกษา จำแนกตามแผนก พบว่า บุคลากรในโรงเรียนชุมพรบริหารธุรกิจ ซึ่งสังกัดในแผนกต่างกัน มีความคิดเห็นต่อพฤติกรรมการบริหารงานของผู้อำนวยการสถานศึกษา จำแนกตามแผนก ในภาพรวมและรายด้านไม่แตกต่างกัน
4. ผลการวิเคราะห์เปรียบเทียบความคิดเห็นของบุคลากรโรงเรียนชุมพรบริหารธุรกิจ ที่มีต่อพฤติกรรมการบริหารงานของผู้อำนวยการสถานศึกษา จำแนกตามตำแหน่งงาน พบว่า บุคลากรในโรงเรียนชุมพรบริหารธุรกิจ ซึ่งมีตำแหน่งงานต่างกัน มีความคิดต่อพฤติกรรมการบริหารงานของผู้อำนวยการสถานศึกษา โดยรวมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า
ด้านการครองตน ครู อาจารย์มีความคิดเห็นแตกต่างกับเจ้าหน้าที่ของโรงเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05
ด้านการครองคน ครู อาจารย์ เจ้าหน้าที่และพนักงานมีความคิดเห็นไม่แตกต่างกัน
ด้านการครองงาน ครู อาจารย์มีความคิดเห็นแตกต่างกับเจ้าหน้าที่ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05

อภิปรายผล
                ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับ ความคิดเห็นของบุคลากรในโรงเรียนชุมพรบริหารธุรกิจ ที่มีต่อพฤติกรรมการบริหารงานของผู้อำนวยการสถานศึกษาประจำปีการศึกษา2552 สามารถอภิปรายผลได้ดังนี้
1. บุคลากรในโรงเรียนชุมพรบริหารธุรกิจ มีความคิดเห็นต่อพฤติกรรมการบริหารงานของผู้อำนวยการสถานศึกษา โดยรวมและรายด้านอยู่ในระดับมากซึ่งสอดคล้องตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ     บุญชู แสงสุข ได้ศึกษาทรรศนะของบุคลากรทางการศึกษาที่มีต่อการปฏิบัติจริงตามคุณธรรมและจริยธรรมของผู้บริหารสถานศึกษา พบว่า ทรรศนะของบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดสำนักงานประถมศึกษา จังหวัดสระบุรี ที่มีต่อการปฏิบัติจริงตามคุณธรรมและจริยธรรมของผู้บริหารสถานศึกษา ด้านการครองตน ครองคน และครองงาน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากทุกด้าน เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า
                1.1. ด้านการครองตน บุคลากรโรงเรียนชุมพรบริหารธุรกิจ มีความคิดเห็นต่อพฤติกรรมการบริหารงานของผู้อำนวยการสถานศึกษา โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า ข้อที่มีระดับความคิดเห็นมากสูงสุด คือ การพัฒนาตนเองให้สอดคล้องเหมาะสมกับยุคสมัย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะผู้อำนวยการสถานศึกษา เป็นบุคคลรุ่นใหม่ มีความคิดที่แตกต่างจากผู้บริหารท่านอื่น เป็นผู้ที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงและเป็นผู้ที่ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ซึ่งสอดคล้องกับบทความของคัมภีร์ ธิราวิทย์ กล่าวในบทความเรื่อง จริยธรรมที่เป็นหลักยึดในการทำงาน ว่าผู้มีความคิดริเริ่ม ด้วยความคิดสร้างสรรค์ โครงการใหม่ๆ ที่ เป็นประโยชน์สุขแก่หมู่คณะ สังคม และประเทศชาติ และวิธีการทำงานใหม่ๆ ให้การปกครอง การบริหาร กิจการงานได้บังเกิดผลดี มีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น
1.2. ด้านการครองคน บุคลากรโรงเรียนชุมพรบริหารธุรกิจ มีความคิดเห็นต่อพฤติกรรมการบริหารงานของผู้อำนวยการสถานศึกษา ด้านการครองคน โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ข้อการเจรจาแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่ส่อเสียดหรือเสียดสีผู้ร่วมงานมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากสูงสุดซึ่งพระคุณเจ้าพระโสภณคณาภรณ์หรือพระเทพดิลกในปัจจุบัน(ระแบบ ฐิตญาโณ) ได้เคยแสดงเป็นธรรมเทศนาไว้ว่า การกล่าววาจาเป็นสุภาษิตหรือปิยวาจา นั่นก็คือการพูดดี พูดงามและพูดมีประโยชน์นั่นเอง เพราะคนที่พูดจาดี พูดไพเราะ อ่อนหวานน่าฟังและมีประโยชน์ ใครฟังแล้วย่อมรื่นหู ไปที่ไหน คนก็ยินดีต้อนรับเพราะไม่กล่าววาจาให้ระคายหูใคร ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของสมาน พงษ์จำนงค์ ได้ศึกษาคุณลักษณะของผู้บริหารสถานศึกษามืออาชีพตามทัศนะของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จังหวัดชัยภูมิ พบว่า คุณลักษณะของผู้บริหารสถาน ศึกษามืออาชีพ ตามทัศนะของผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จังหวัดชัยภูมิ มีความสำคัญอยู่ในระดับมากที่สุดมี 5 ด้าน โดยเรียงลำดับความสำคัญ ดังนี้ คือ ด้านคุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพ ด้านบุคลิกภาพ ด้านความรู้ ความสามารถ ด้านทักษะทางการบริหาร และด้านวิสัยทัศน์ โดยด้านบุคลิกภาพ พบว่า ผู้บริหารควรเป็นผู้มีบุคลิกภาพ ได้แก่ 1) มีอารมณ์มั่นคง หนักแน่น ไม่หวั่นไหวต่อปัญหาและอุปสรรค 2) เป็นแบบอย่างในเรื่องของความอดทนและสู้งาน 3) พูดจาสุภาพ ชัดเจน น้ำเสียงน่าฟัง
1.3. ด้านการครองงาน บุคลากรโรงเรียนชุมพรบริหารธุรกิจ มีความคิดเห็นต่อพฤติกรรม การบริหารงานของผู้อำนวยการสถานศึกษา ด้านการครองงาน โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ข้อการเป็นมิตรที่ดี วาจาสุภาพ เหมาะกับกาลเทศะ มีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากสูงสุด ซึ่งแสดงถึงความสอดคล้องทางด้านการครองคนของผู้อำนวยการ
          2. ผลการวิเคราะห์เปรียบเทียบความคิดเห็นของบุคลากรโรงเรียนชุมพรบริหารธุรกิจ ที่มีต่อพฤติกรรมการบริหารงานของผู้อำนวยการสถานศึกษา จำแนกตามแผนก พบว่า บุคลากรในโรงเรียนชุมพรบริหารธุรกิจ ซึ่งสังกัดในแผนกต่างกัน มีความคิดเห็นต่อพฤติกรรมการบริหารงานของผู้อำนวยการสถานศึกษา ในภาพรวมและรายด้านไม่แตกต่างกันซึ่งไม่สอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ ทั้งนี้เพราะ แผนกที่บุคลากรสังกัดมิได้เป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้บุคลากรมีความคิดเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมการ บริหารงานของผู้อำนวยการสถานศึกษา
3. ผลการวิเคราะห์เปรียบเทียบความคิดเห็นของบุคลากรโรงเรียนชุมพรบริหารธุรกิจ ที่มีต่อพฤติกรรมการบริหารงานของผู้อำนวยการสถานศึกษา จำแนกตามตำแหน่งงาน พบว่า บุคลากรในโรงเรียนชุมพรบริหารธุรกิจ ซึ่งมีตำแหน่งงานต่างกัน มีความคิดเห็นต่อพฤติกรรมการบริหารงานของผู้อำนวยการสถานศึกษา โดยรวมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้งนี้เพราะ บุคลากรที่มีตำแหน่งงานที่ต่างกัน มีมุมมองต่อการบริหารงานของผู้อำนวยการสถานศึกษาต่างกัน เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า
ด้านการครองตน ครู อาจารย์มีความคิดเห็นแตกต่างกับเจ้าหน้าที่ของโรงเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05
ด้านการครองคน ครู อาจารย์ เจ้าหน้าที่และพนักงานมีความคิดเห็นไม่แตกต่างกัน
ด้านการครองงาน ครู อาจารย์มีความคิดเห็นแตกต่างกับเจ้าหน้าที่ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05

ข้อเสนอแนะ
จากผลการวิจัย พบว่า บุคลากรในโรงเรียนชุมพรบริหารธุรกิจ มีความคิดเห็นต่อพฤติกรรม การบริหารงานของผู้อำนวยการสถานศึกษา โดยรวมอยู่ในระดับมาก แต่มีข้อคิดเห็นที่มีความคิดเห็นอยู่ในระดับปานกลาง คือ พัฒนาระบบงานให้ทันสมัย สะดวก รวดเร็วในการทำงาน ดังนั้น ผู้บริหารควรนำผลการวิจัยในครั้งนี้ไปใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาระบบการทำงานให้มีความสะดวกและรวดเร็วขึ้น โดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งต่อตนเอง บุคลากรด้านต่างๆ ตลอดจนนักเรียน/นักศึกษา

ข้อเสนอแนะเพื่อการวิจัยครั้งต่อไป
ควรมีการศึกษาพฤติกรรมในการบริหารงานด้านอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการพัฒนาสถานศึกษาเช่น ด้านความรู้ของผู้บริหาร ด้านการเป็นผู้นำทางการศึกษา ด้านบุคลิกภาพเป็นต้น